กู่แก้ว
“กู่” เป็นคำในภาษาอีสานที่มักใช้เรียกศาสนสถานเขมร ซึ่งพบกระจายตัวอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน โดยเฉพาะอีสานตอนล่าง ที่มีพรมแดนติดกับประเทศกัมพูชา ซึ่งศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทย สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ และพบมากที่สุดในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า อโรคยาศาล หรือโรงพยาบาลชุมชนโบราณ พบกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในชุมชนโบราณต่าง ๆ ทั่วภาคอีสาน
กู่แก้ว ตั้งอยู่ภายในเขตวัดกู่แก้วสามัคคี หมู่ ๖ บ้านหัวสระ ตำบลดอนช้าง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เป็น ๑ ในอโรคยาศาลในจำนวน ๑๐๒ แห่ง ตามที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในจารึกปราสาทตาพรหม กล่าวว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โปรดให้สถาปนาโรงพยาบาล ๑๐๒ แห่ง ขึ้นทุกๆ วิษัย (จังหวัด) กู่แก้ว ยังเป็น ๑ ในอโรคยาศาลจำนวน ๓๑ แห่งที่พบและได้รับการบูรณะแล้วในประเทศไทย และยังเป็น ๑ ใน ๒ แห่งที่พบในจังหวัดขอนแก่น อีกแห่งหนึ่งคือ กู่ประภาชัย ในอำเภอน้ำพอง กู่แก้ว ซึ่งเป็นร่องรอยหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงพระราชอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่แพร่มาถึงพื้นที่ห่างไกลจากเมืองพระนครหลวง (Angkor Thom)
กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียน และกำหนดขอบเขตที่ดินโบราณสถานกู่แก้ว ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๙ เล่มที่ ๑๗๒ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๕ พื้นที่ ๒ ไร่ ๒ งาน ๑๔ ตารางวา กรมศิลปากรได้เริ่มดำเนินการขุดแต่ง บูรณะโบราณสถานใน พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๐ และขุดแต่งและบูรณะอีกครั้งระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๑ – ๒๕๔๒
ศาสนสถานประเภท อโรคยาศาล มักประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ได้แก่ สระน้ำ กำแพงแก้ว โคปุระ บรรณาลัย และปราสาทประธาน แต่อาจแตกต่างกันที่ขนาดและรายละเอียดปลีกย่อยบางอย่าง ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับขนาดของชุมชนที่ตั้งของอโรคยาศาลแต่ละที่
โดยความเป็นจริงแล้วร่องรอยที่ปรากฏให้เห็นเหล่านี้มิใช่ตัวโรงพยาบาล แต่เป็น ศาสนสถานประจำโรงพยาบาล ที่เรียกว่า “สุคตาลัย” ตามที่ปรากฏในจารึกที่ปราสาทตาพรหม โรงพยาบาลจริง ๆ ตั้งอยู่รอบนอกศาสนสถาน สร้างด้วยไม้ จึงไม่หลงเหลือร่องรอยหลักฐานถึงปัจจุบัน ยกเว้นตัวศาสนสถานเท่านั้นที่สร้างด้วยสิ่งก่อสร้างถาวรในที่นี้คือ ศิลาแลง เฉพาะส่วนกรอบประตูหน้าต่างและทับหลังที่ใช้หินทราย
จากการขุดแต่งและบูรณะโคปุระและแนวกำแพงแก้ว ของกรมศิลปากร ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๙ – ๒๕๓๐ และทำขุดแต่งและบูรณะอีกครั้ง ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๑ – ๒๕๔๒ พบประติมากรรมสำคัญ ได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระวัชรธร พระวัชรปาณีทรงครุฑ และพระยมทรงกระบือ ซึ่งเป็นรูปเคารพในพุทธศาสนามหายาน ตามรูปแบบของศิลปะบายน พร้อมศิลาจารึกประจำอโรคยาศาล ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และยังพบพระพุทธรูปบุเงินในศิลปะล้านช้าง จำนวน ๒๔ องค์
จากร่องรอยที่พบแสดงว่ามีการเข้ามาใช้พื้นที่ในสมัยวัฒนธรรมล้านช้าง ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ๒๔ หลังจากกู่แก้วถูกทิ้งร้างราว ๕๐๐ ปี มีการใช้พื้นที่สร้างศาสนสถาน ทำให้ชิ้นส่วนต่างๆ ถูกเคลื่อนย้ายออกไป มีหลายชิ้นส่วนที่ไม่สามารถต่อประกอบเข้ากันได้ในการบูรณะ เช่น บัวยอดปราสาท กรอบประตูหินทราย และแท่นฐานประติมากรรม เป็นต้น ทางกรมศิลปากรจึงนำมาเก็บไว้ใน “อาคารเก็บชิ้นส่วนโบราณสถาน” ที่สร้างไว้ทางเหนือของโบราณสถานติดกำแพงวัดกู่แก้วสามัคคี
ถึงแม้ว่าศาสนสถานแห่งนี้จะสร้างขึ้นมานานกว่า ๘๐๐ ปี และไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างชุมชนโบราณและชุมชนในปัจจุบันที่เข้ามาอยู่ในระยะหลัง อย่างไรก็ตามชุมชนปัจจุบันก็รับเอาศาสนสถานเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อร่วมกันของตำบลดอนช้าง จะเห็นได้จากงานบุญประเพณี “กู่ฮ่มข่อย” ถือเป็นงานใหญ่ประจำตำบล ที่ทุกชุมชนสมัครสมานสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันอย่างเต็มที่ งานบุญนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ของทุกปี
อ่านเพิ่มเติม:
“อโรคยาศาล” โรงพยาบาลในชุมชนเขมรโบราณ
“กู่แก้ว” เป็นอโรคยาศาลหรือโรงพยาบาลโบราณ ที่มีอายุเก่าแก่กว่า ๘๐๐ ปี เป็นศูนย์กลางของการรักษาโรคมาแต่โบราณ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และกำลังจะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพืชพันธุ์สมุนไพรและการรักษาโรคแผนโบราณในอนาคต กู่แก้วอยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นเพียง ๒๐ กว่ากิโลเมตร เปิดให้เข้าชมทุกวัน สำหรับท่านที่สนใจ ก็ขอเชิญชวนทุกท่านมาท่องเที่ยวในวันหยุดกับครอบครัวที่ “อโรคยาศาลกู่แก้ว” รวมทั้งขอเชิญชวนให้ไปไหว้พระทำบุญร่วมสร้าง “พระอุโบสถ” ที่ “วัดกู่แก้วสามัคคี” ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงกำลังก่อสร้าง
กู่แก้ว ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างสำคัญดังนี้
สระน้ำ
ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้ว ตรงบริเวณมุมกำแพง ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ขุดเป็นสระรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาด ๑๕ x ๑๘ เมตร กรุขอบสระด้วยศิลาแลงสอบลงไปด้านล่างในลักษณะเป็นบันได
กำแพงแก้ว
กำแพงสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบปราสาทประธาน และบรรณาลัยที่อยู่ด้านใน มีทางเข้า (โคปุระ) ทางทิศตะวันออก มีขนาด ๒๖ x ๓๘ เมตร
โคปุระ
ประตูทางเข้าสำคัญเพียงประตูเดียวทางด้านทิศตะวันออกของอโรคยาศาล สร้างด้วยศิลาแลง ต่อกับกำแพงแก้ว มีแผนผังเป็นรูปกากบาท ตรงกลางห้องพบว่าประดิษฐานรูปเคารพ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
ปราสาทประธาน
ปราสาทที่ตั้งอยู่กลางพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว (กำแพงศิลาแลง) มักมีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาด ๗.๒๐ x ๗.๒๐ เมตร ฐานปราสาทสูงประมาณเมตรกว่าๆ มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออก รับกับประตู ส่วนด้านอื่นๆ เป็นประตูหลอก ส่วนหลังคาทรงปราสาทหักพังไปหมดแล้ว เหลือเพียงส่วนผนังเรือนธาตุ
บรรณาลัย
อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังคาทรงประทุน แต่หักพังไปแล้ว มีความยาว ๗.๕๐ เมตร สร้างด้วยศิลาแลง มักตั้งอยู่มุมกำแพงด้านในทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หันหน้าไปทางตะวันตก สวนทางกับปราสาทประธานที่หันหน้าไปทิศตะวันออก
อัลบั้มภาพ