หมู่ ๖ บ้านหัวสระ
บ้านหัวสระ ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๖ ตำบลดอนช้าง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มีผู้ใหญ่บ้านชื่อ นางประกาศ เสาเวียง เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ ๘ ของหมู่บ้าน ดำรงตำแหน่งได้ ๒ ปี
ความเป็นมาของหมู่บ้าน
เมื่อก่อนหมู่บ้านหัวสระจะอยู่ด้วยกันกับหมู่บ้านหัวบึง แต่ได้แยกการปกครองออกจากหมู่บ้านหัวบึง มาตั้งอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน สาเหตุที่แยกออกมาเป็นเพราะน้ำท่วม ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่ตั้งหมู่บ้าน โดยมีนายเหลา ปัจฉิม เริ่มมาก่อตั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพมาจากโคราช มีการนำวัฒนธรรมของโคราชเข้ามา คือ ประเพณีบุญข้าวตอกแตก ซึ่งในอีสานเรียกว่า บุญข้าวสาก โดยประเพณีข้าวตอกแตกจัดขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งถือเป็นประเพณีประจำหมู่บ้าน หัวสระเป็นหมู่บ้านเล็กขนาด ๗๕ ครัวเรือนแต่อาศัยอยู่จริง ๖๐ กว่าครัวเรือน อยู่อาศัยการแบบเครือญาติ
สถานที่สำคัญภายในหมู่บ้าน
มีวัดกู่แก้ว เป็นศูนย์รวมของหมู่บ้าน และตำบลดอนช้าง มีปรางค์กู่แก้ว สัญลักษณ์ของพระประจำอโรคยาศาลคือ มือจะถือสากกับครกเพื่อบดยา มีปรากฎการณ์พระอาทิตย์ขึ้นตรงช่องประตู อำเภอเมืองมีเป้าหมายที่จะทำให้กู่แก้ว เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเลยมีการทำประวัติเก็บไว้
อาชีพ
เดิมมีอาชีพปั้นหม้อดินเผา เพื่อเอาไปแลกข้าว สมัยก่อนทำใช้เอง ทุกวันนี้ยังมีเก็บไว้อยู่ แต่ไม่ค่อยได้เอาออกมาใช้ คนก็ไม่นิยมซื้อเหมือนแต่ก่อน ปัจจุบันไม่ได้ปั้นเป็นอาชีพแล้ว เนื่องจากมีเครื่องปั้นต่าง ๆ ที่เป็นปูน ซึ่งก็มีทำบ้าง ถ้ามีคนมาสั่ง ชาวบ้านใช้ดินเหนียวจากท้ายหมู่บ้านมาปั้น ปัจจุบันปั้นเพื่อทำเป็นของที่ระลึก ของฝาก เช่น กระปุกออมสิน กาน้ำร้อน นำเอาไปไว้ที่วัดกู่แก้ว ชาวบ้านประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก ทำนาเป็นส่วนน้อย เพราะพื้นที่หมู่บ้านหัวสระ เป็นพื้นที่น้ำเค็ม ปลูกพืชผักไม่ได้ แต่มีปลูกข้าว ปลูกข้าว ปลูกอ้อยบ้าง เกษตรกรส่วนมากเลยหันไปค้าขายที่ตลาด
ประเพณี
ประเพณีบุญข้าวตอกแตก ซึ่งในอีสานเรียกว่า บุญข้าวสาก โดยประเพณีข้าวตอกแตกจัดขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งถือเป็นประเพณีประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านจะทำขนม งานจัดที่วัดกู่แก้ว หากใครไปวัดก็จะนำขนมแจก แบ่งปันกัน เผื่อแผ่ ให้สิ่งดี ๆ ได้ขยายออกไป ซึ่งก็สื่อถึงชื่อของขนม ‘ข้าวตอกแตก’
ประเพณีกู่ฮ่มข่อย เป็นประเพณีที่สำคัญของหมู่บ้าน จัดที่ปราสาทกู่แก้ว จัดวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ของทุกปี มีการสรงน้ำพระ และกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีหน่วยงานของอบต. ดอนช้าง เข้ามาสนับสนุน เดิมชาวบ้านจะจัดกันเอง
สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
ถ้าชาวบ้านต้องการพักผ่อนหย่อนใจ ในอดีตก็จะไปที่กู่แก้ว เพราะก่อนบูรณะจะมีต้นข่อยขึ้นล้อมรอบทำให้บรรยากาศร่มรื่น แต่ภายหลังพระได้เข้ามาสร้างสำนักสงฆ์และกลายมาเป็นวัดในปี ๒๕๖๒ มีร้านค้าไม่มาก แต่มีซุปเปอร์มาร์เก็ตอยู่หน้าหมู่บ้านและมีร้านอาหารอยู่ ๑-๒ ร้าน และตู้น้ำมันที่รัฐบาลเอามาติดตั้ง
ความเชื่อ
มีความเชื่อและศรัทธาเป็นอย่างมากต่อองค์พระประจำวัดกู่แก้ว ที่ชาวบ้านนำมาประดิษฐานไว้ที่ศาลเพียงตา ตรงทางโค้งวัดกู่แก้ว เวลาขับรถผ่านต้องบีบแตร ๓ ครั้ง เพื่อเป็นการบอกกล่าว เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก ทั้งช่วยปกปักรักษาหมู่บ้าน ให้พรแก่ผู้ที่ขอได้ทุกประการ
เคยมีพิธีกรรมที่เรียกว่า ลงเจ้าลงทรง ยกเลิกเพราะโควิด ถ้าใครทำอะไรไม่ดีไว้ หลวงปู่จะมาเข้าทรงพ่อจ้ำ ให้มาบอกคนทำไม่ดีให้ไปทำพิธีเพื่อแก้ไข
สมุนไพรปัจจุบันไม่ค่อยได้ปลูกแล้ว แต่ที่หมู่บ้านมีหมอสมุนไพรอยู่ ชื่อพ่อบุญเลิศ อดีตเป็นผู้ใหญ่บ้านหัวสระ และมีหมอเป่า ที่เป่างูสวัด แต่เสียชีวิตไปแล้ว
มีภูมิปัญญาการทำลูกประคบสมุนไพร ที่ช่วยแก้อาการปวดเหมื่อยตาร่างกาย เรียกว่าลูกประคบเกลือ
ที่มา:
สัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ ๖ นางประกาศ เสาเวียง อาชีพรับราชการ ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และเกษตรกร เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔