หมู่ ๘ บ้านนิคม
บ้านนิคม เป็นหมู่ที่ ๘ ในตำบลดอนช้าง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กของตำบลซึ่งมีพื้นที่ติดกับตำบลหนองแวง อำเภอพระยืน มีนายอาทิตย์ เจ๊กสีเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านมาได้ประมาณ ๔-๕ ปีแล้ว ปัจจุบันผู้ใหญ่บ้านตอนนี้อายุ ๔๓ ปี และเป็นคนของหมู่บ้านนิคมตั้งแต่เกิด โดยจบมัธยมปลายจากโรงเรียนฝางวิทยายน ปัจจุบันทำเกษตรกรรมและทำไร่ปลูกมันสำปะหลัง หญ้าลูซี่รวมถึงปลูกข้าวเช่นเดียวกับเกษตรกรในหมู่บ้าน
อาณาเขตของหมู่บ้าน
ทิศเหนือติดกับ บ้านดอนหญ้านาง ตำบลดอนช้าง
ทิศใต้ติดกับ บ้านโนนตุ่น ตำบลหนองแวง
ทิศตะวันออกติดกับ บ้านหนองโพ ตำบลหนองแวง
ทิศตะวันตกติดกับ บ้านหนองทุ่ม ตำบลบ้านหว้า
ประวัติและประเพณีวัฒนธรรมของหมู่บ้านนิคม
เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ โดยมีนายบุตรคำ แก้วคำ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก มีครัวเรือนประมาณ ๒๐ ครัวเรือน และมีประชากรประมาณ ๑๐๐ คน โดยแต่เดิมนั้นหมู่บ้านนิคมขึ้นตรงอยู่กับตำบลบ้านหว้า ในลำดับที่ ๑๘ ของตำบลในขณะที่มีนายพินิจน์ ผาสุขเป็นกำนันดูแล
ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้นายบุญเรือง พบวงษาถูกแต่งตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นคนที่สอง ซึ่งในขณะนั้นตำบลบ้านหว้าได้ถูกแบ่งออกเป็นตำบลดอนช้าง ทำให้หมู่บ้านนิคมขึ้นตรงกับตำบลดอนช้างแทนและได้จัดอยู่ในลำดับที่ ๘ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ส่วนนายบุญเรือง พบวงษานั้นได้เป็นผู้ใหญ่บ้านจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ทำให้ต่อมาได้นายสงบ โคตรปทุมได้รับตำแหน่งสืบต่อจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ต่อมาได้นายสาย อุ่นผางผ่านการเลือกตั้งและได้ดำแรงตำแหน่งต่อและสิ้นวาระตำแหน่งในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ จนได้นายอาทิตย์ เจ๊กสีเป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ ๕ จนถึงปัจจุบัน โดยหมู่บ้านมี ๖๕ ครัวเรือนและมีประชากรทั้งสิ้น ๒๙๔ คน
เมื่อก่อนหมู่บ้านในอดีตจะมีกลุ่มสตรีทอผ้า แต่ทว่าช่วงหลังไม่มีอีกแล้วเนื่องจากทางหมู่บ้านขาดผู้สืบทอด ทำให้หมู่บ้านในปัจจุบันมีเพียงการทำเกษตรกรรมเป็นหลักโดยเฉพาะไร่มันสำปะหลังและหญ้ารูซี่
โดยในหมู่บ้านจะมีประเพณีทั่วไป เช่นในช่วงสงกรานต์จะรดน้ำผู้สูงอายุใน รวมถึงมีประเพณีทางศาสนาพุทธทั่วไป เช่น ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน นอกไปจากนี้ยังมีประเพณี ฮีต ๑๒ คอง ๑๔ เฉกเช่นหมู่บ้านในภาคอีสานอีกด้วย (ยกเว้นประเพณีบุญผะเหวดที่ไม่ได้จัดกิจกรรมขึ้น) ยังมีประเพณีบุญบั้งไฟที่เป็นจุดเด่นของประเพณีภาคอีสาน แม้ว่าจะลดขนาดของตัวบั้งไฟลงเพราะความเป็นห่วงเรื่องของความปลอดภัย รวมถึงการเข้าร่วมประเพณีที่วัดกู่แก้วสามัคคี
ปัจจุบันยังไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวของหมู่บ้าน แต่กำลังพัฒนาสร้างป่าชุมชน ซึ่งได้จดทะเบียนแล้วถึงขนาด ๕๐ ไร่
ที่สาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้านนิคม
มีอยู่ ๓ แห่งได้แก่ ๑) หนองหินกอง มีเนื้อที่ ๔๔ ไร่ ๒) ที่ราชพัสดุซึ่งเหลือเอาไว้ให้สร้างโรงเรียน ซึ่งมีเนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๓) สระสะอาดมีเนื้อที่ ๑ งาน
มีวัดอยู่ ๒ แห่งได้แก่ ๑) วัดวงษาพัฒนารามซึ่งเป็นวัดที่ก่อตั้งพร้อมกับหมู่บ้านทำให้ชาวบ้านมักมาทำกิจกรรมและพิธีกรรมทางศาสนาพุทธที่วัดแห่งนี้ และ ๒) วัดป่าสุเมธารามที่เป็นวัดก่อตั้งมาภายหลัง โดยจะเป็นวัดที่คนนอกหมู่บ้านนิยมนำผู้เสียชีวิตมาประกอบพิธีทางศาสนาและเผาที่เมรุ เนื่องจากเป็นวัดสาขาย่อยที่แยกมาจากวัดป่าแสงอรุณในเมือง
ปัจจุบันที่หมู่บ้านไม่มีโรงเรียนทำให้เด็ก ๆ ส่วนมากไปเรียนอยู่ที่โรงเรียนบ้านดอนหญ้านาง และโรงเรียนบ้านหนองแวง ตามการศึกษาภาคบังคับของภาครัฐ
ศาลหลวงปู่หนองหินกอง
เป็นศาลหลวงปู่ที่ทำพิธีเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์ซึ่งปกปักรักษาประจำหมู่บ้าน โดยท่านจะขึ้นเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพในชุมชนมาก โดยศาลหลวงปู่มีมาพร้อมกับการก่อตั้งหมู่บ้านนิคม แต่ปัจจุบันได้มีการสร้างศาลใหม่ขึ้นตรงบริเวณเดิมอีกครั้งซึ่งก็คือศาลปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเวลาคนในหมู่บ้านจะเดินทางหรือไปต่างถิ่นก็มักจะมาขอพรกับหลวงปู่เสมอ ชาวบ้านนิคมจะถือธรรมเนียมที่ว่าในวันพุธ หากมีใครอยากจะขอสิ่งใดก็ให้มาบ่นกับหลวงปู่ด้วยของเซ่นที่ท่านชอบจำพวกเหล้าขาวกับไก่
ปัญหาของหมู่บ้าน
ปัญหาหลักคือปัญหาของพื้นที่ทำกินซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการในหมู่บ้าน เนื่องจากพื้นที่เกษตรต้องเช่าจากคนในหมู่บ้านข้างเคียง ซึ่งทำให้รายได้ไม่ค่อยคงที่เนื่องจากต้องเน้นทำงานรับจ้างเสียส่วนใหญ่
ที่มา:
สัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ ๘ นายอาทิ อาชีพ รับราชการ ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และเกษตรกร เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔