“อโรคยาศาล” โรงพยาบาลโบราณเมื่อ ๘๐๐ ปีที่ผ่านมา
โรคภัยไข้เจ็บคือสิ่งเบียดเบียนกายและใจของผู้คน ความไม่มีโรคจึงเป็นลาภอันประเสริฐยิ่ง แต่ “ทุกข์ทางกายของประชาชน คือทุกข์ทางใจของผู้ปกครอง” ถ้อยคำอันเต็มเปี่ยมด้วยเมตตานี้มาจากจารึกภาษาเขมรโบราณที่ปรากฏใน “อโรคยาศาล” หลายแห่ง ทั้งในประเทศกัมพูชาและในภาคอีสานของไทย ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราชพระองค์สุดท้ายของเมืองพระนคร โปรดให้จารึกไว้ ณ อโรคยาศาล ๑๐๒ แห่งที่สร้างกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรของพระองค์
สถานที่แห่งนี้โดยแท้จริงแล้ว คือ ศาสนสถานประจำโรงพยาบาล หรือที่เรียกว่า “สุคตาลัย” ตามชื่อที่ปรากฏอยู่ในจารึก เป็นส่วนหนึ่งของอโรคยาศาล ซึ่งเป็นกลุ่มสถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยศิลาแลงทั้งหลัง ยกเว้นส่วนกรอบประตูหน้าต่างและทับหลัง ส่วนที่เป็นตัวเรือนพยาบาลอาจสร้างด้วยไม้ จึงไม่หลงเหลือหลักฐานทิ้งไว้ให้เห็น
แผนผังของศาสนสถานประจำอโรคยศาล มีมาตรฐานเดียวกันในทุกที่ คือประกอบด้วย กำแพงศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีทางเข้าที่เรียกว่า “โคปุระ” ทางด้านทิศตะวันออก และเยื้องกันนั้นมีสระน้ำที่เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถใช้ชำระโรคภัยได้ ภายในกำแพงประกอบด้วยอาคารสองหลัง โดยหลังที่อยู่ตรงกลางเรียกว่า “ปราสาทประธาน” มีขนาดใหญ่ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาซ้อนเป็นชั้น ๆ ทรงปราสาท มีมุขยื่นรับกับโคปุระ และอาคารอีกหลังเรียกว่า “บรรณาลัย” ฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงประทุน หันหน้าไปทิศตะวันตก สวนทางกับตัวปราสาท เชื่อว่าอาจเป็นสถานที่เก็บคัมภีร์ หรือเก็บข้าวของที่ใช้ในการทำพิธีกรรม
ในทุก ๆ ศาสนสถานประจำอโรคยาศาลมักประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างที่คล้ายคลึงกัน อาจแตกต่างที่ขนาดและรายละเอียดบ้างเล็กน้อย เช่น มีช่องทางเข้าเพิ่มเติมจากโคปุระ มักปรากฏที่ผนังกำแพงข้าง ๆ โคปุระ หรือมีลานหรือชาลาทางเดินก่อด้วยศิลาแลงเป็นทางเดินเชื่อมตัวปราสาทประธานกับโคปุระ บ้างก็เชื่อมมาถึงบรรณาลัย
โดยมากแล้วสุคตาลัยที่สร้างในเขตภาคอีสานของไทยสร้างด้วยศิลาแลงทั้งหมด อาจมีรายละเอียดแตกต่างบ้างเล็กน้อย ที่บางปราสาทมีการใช้หินทรายมาเสริมบ้าง แต่ขณะที่สุคตาลัยที่พบในประเทศกัมพูชานั้นสร้างด้วยหินทรายเป็นส่วนใหญ่ อาจเนื่องมาจากความห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจ และการใช้วัสดุในท้องถิ่นที่แตกต่างกันก็เป็นได้
สุคตาลัย ที่พบกระจายอยู่ในภาคอีสานของไทย ที่ได้รับการบูรณะเสร็จสมบูรณ์แล้วมีจำนวนทั้งสิ้น ๓๑ แห่ง โดยเฉพาะในเขตอีสานล่างหรือลุ่มแม่น้ำมูล พบหนาแน่นกว่าอีสานตอนบนหรือลุ่มแม่น้ำชี และพบไกลไปจนถึงจังหวัดสกลนคร
ในจังหวัดขอนแก่น พบอโรคยศาลจำนวน ๒ แห่ง ได้แก่ กู่ประภาชัย (กู่บ้านนาคำน้อย) ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และ กู่แก้ว ตำบลดอนช้าง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
อ่านเพิ่มเติม:
“กู่แก้ว” เป็นอโรคยาศาลหรือโรงพยาบาลโบราณ ที่มีอายุเก่าแก่กว่า ๘๐๐ ปี เป็นศูนย์กลางของการรักษาโรคมาแต่โบราณ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และกำลังจะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพืชพันธุ์สมุนไพรและการรักษาโรคแผนโบราณในอนาคต กู่แก้วอยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นเพียง ๒๐ กว่ากิโลเมตร เปิดให้เข้าชมทุกวัน สำหรับท่านที่สนใจ ก็ขอเชิญชวนทุกท่านมาท่องเที่ยวในวันหยุดกับครอบครัวที่ “อโรคยาศาลกู่แก้ว” รวมทั้งขอเชิญชวนให้ไปไหว้พระทำบุญร่วมสร้าง “พระอุโบสถ” ที่ “วัดกู่แก้วสามัคคี” ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงกำลังก่อสร้าง