แผนผังของอโรคยาศาล “กู่แก้ว”
อโรคยาศาล หรือ สถานพยาบาลในวัฒนธรรมเขมรโบราณ เป็นสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนา ที่สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๐ – ๑๗๘๐) หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ประมาณ ๘๐๐ ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้าง ดังนี้ ๑. อาคารพยาบาล ที่สร้างด้วยไม้ จึงไม่หลงเหลือร่องรอยทิ้งไว้ให้เห็นเมื่อกาลเวลาผ่านไป และ ๒. ศาสนสถาน หรือที่เรียกว่า สุคตาลัย กลุ่มอาคารที่ก่อด้วยศิลาแลง มีกำแพงล้อมรอบ และมีสระน้ำอยู่นอกกำแพง คือส่วนที่ปรากฏร่องรอยทิ้งไว้ให้เราเห็นในปัจจุบัน
๑. อาคารพยาบาล สถานที่รักษาทางกายสำหรับผู้ป่วย ที่สร้างด้วยไม้ อาจประกอบด้วย เรือนพยาบาล เรือนนอนของผู้ป่วย โรงปรุงยา โรงเก็บสมุนไพร รวมทั้งเรือนพักของแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในอโรคยาศาล น่าจะตั้งอยู่โดยรอบนอกของศาสนสถาน
๒. สุคตาลัย หรือ ศาสนสถานประจำโรงพยาบาล เป็นสถานที่เยียวยาทางจิตใจของผู้ป่วยและญาติมิตร สร้างด้วยศิลาแลงเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นกรอบประตูหน้าต่าง และทับหลังที่ใช้หินทราย มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เป็นรูปแบบเดียวกันในทุกๆ ที่ ยกเว้นขนาดและรายละเอียดบางประการที่แตกต่างกันไป อาจขึ้นอยู่กับขนาดของชุมชน และระยะเวลาในการก่อสร้างที่อาจทำให้มีรายละเอียดหรือความก้าวหน้าในการก่อสร้างไม่เท่ากัน
สำหร้บสุคตาลัยของ “กู่แก้ว” มีองค์ประกอบครบถ้วนของความเป็นศาสนสถานในโรงพยาบาล ซึ่งประกอบด้วย สระน้ำ กำแพงแก้ว โคปุระ บรรณาลัย และปราสาทประธาน ที่ได้รับการบูรณะค่อนข้างสมบูรณ์ ยกเว้นส่วนหลังคาของทั้งโคปุระ บรรณาลัย และปราสาทประธานที่พังทลายไม่สามารถต่อประกอบกลับคืนได้สมบูรณ์
กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียน และกำหนดขอบเขตที่ดินโบราณสถานกู่แก้ว ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๙ เล่มที่ ๑๗๒ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๕ พื้นที่ ๒ ไร่ ๒ งาน ๑๔ ตารางวา กรมศิลปากรได้เริ่มดำเนินการขุดแต่ง บูรณะโบราณสถานใน พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๐ และขุดแต่งและบูรณะอีกครั้งระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๑ – ๒๕๔๒
อ่านเพิ่มเติม:
“อโรคยาศาล” โรงพยาบาลโบราณเมื่อ ๘๐๐ ปีที่ผ่านมา
อโรคยาศาล “กู่แก้ว”