อโรคยาศาล ในจังหวัดขอนแก่น
ขอนแก่นเป็นจังหวัดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางความเจริญในด้านต่างๆ ของภาคอีสาน ซึ่งไม่เพียงแต่การพัฒนาที่รุดหน้าเท่านั้น ขอนแก่นยังมีอดีตที่เก่าแก่ ที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญที่สืบทอดต่อเนื่องมาแต่โบราณ โดยเฉพาะความเจริญในยุควัฒนธรรมเขมร
นอกจากปราสาทเปือยน้อย โบราณสถานเขมร ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดขอนแก่น ยังมี “อโรคยาศาล” หรือ โรงพยาบาลชุมชนโบราณในวัฒนธรรมเขมร ซึ่งเป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘
การสร้างโรงพยาบาลชุมชนนี้เป็นหนึ่งในโครงการขนาดใหญ่หลายๆ โครงการ ที่เป็นพระราชดำริของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้แก่ การสร้างอโรคยาศาล การสร้างธรรมศาลา (หรือที่พักคนเดินทาง) การสร้างสะพาน และถนนหนทางต่างๆ เป็นต้น
สำหรับอโรคยาศาล ปรากฏหลักฐานที่ระบุไว้ในศิลาจารึกที่ปราสาทตาพรหม ที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ระบุว่า ทรงโปรดฯให้สร้างโรงพยาบาลเหล่านี้ขึ้นจำนวน ๑๐๒ แห่ง ทุกๆ วิษัย (จังหวัด) สำหรับในประเทศไทยพบหลักฐานของอโรคยาศาล จำนวนทั้งสิ้น ๓๑ แห่ง ที่มีสภาพสมบูรณ์ และได้รับการบูรณะแล้วจากกรมศิลปากร แต่เฉพาะในจังหวัดขอนแก่น พบเพียง ๒ แห่ง ได้แก่ กู่แก้ว อำเภอเมือง และ กู่ประภาชัย อำเภอน้ำพอง
ลักษณะโดยทั่วไปของอโรคยาศาล คือ มีผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า สร้างด้วยศิลาแลงทั้งหมด ยกเว้นส่วนกรอบประตูหน้าต่างและทับหลังที่ใช้หินทราย องค์ประกอบโดยภาพรวมเหมือนกันเกือบทุกที่ คือ มี สระน้ำ ด้านนอกทางมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือ มี กำแพงแก้ว (กำแพงศิลาแลง) ล้อมรอบศาสนสถาน มีประตูทางเข้าหลักด้านทิศตะวันออก เรียกว่า โคปุระ ด้านในมี ปราสาทประธาน (หรือเรียกว่า สุคตาลัย) อยู่ตรงกลาง และมีอาคารอีกหลังที่มุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ด้านในกำแพงแก้ว เรียกว่า บรรณาลัย
อ่านเพิ่มเติม
อโรคยาศาลกู่แก้ว
“อโรคยาศาล” โรงพยาบาลในชุมชนเขมรโบราณ
อโรคยาศาล “กู่แก้ว”
อโรคยาศาล “กู่แก้ว” ตั้งอยู่ที่ บ้านหัวสระ ตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น มีองค์ประกอบทางด้านสถาปัตยกรรมครบถ้วน ตามแบบแผนของอโรคยาศาล โดยเฉพาะส่วนของสระน้ำ และกำแพงแก้ว มีสภาพสมบูรณ์มากที่สุด แต่โคปุระ บรรณาลัย และปราสาทประธาน ส่วนหลังคาหักพัง อ่านเพิ่มเติม
อโรคยาศาล “กู่ประภาชัย”
อโรคยาศาล “กู่ประภาชัย” หรือ “กู่บ้านนาคำน้อย” ตั้งอยู่ที่ บ้านนาคำน้อย ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น มีองค์ประกอบทางด้านสถาปัตยกรรมครบถ้วน ตามแบบแผนของอโรคยาศาลเช่นกัน โดยเฉพาะส่วนของสระน้ำ และกำแพงแก้ว และปราสาทประธาน ที่ได้รับการบูรณะค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนโคปุระ และบรรณาลัย ส่วนหลังคาหักพังไม่สมบูรณ์ อ่านเพิ่มเติม