ท่องเที่ยวดอนช้าง

เรียนรู้และดื่มด่ำกับธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น

กู่แก้วดอนช้างอโรคยาศาล

“กู่ฮ่มข่อย” ประเพณีสรงกู่ของชาวตำบลดอนช้าง ประจำปี ๒๕๖๖

กู่ฮ่มข่อย เป็นบุญประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ โดยองค์การบริหารส่วนตำบลดอนช้าง ร่วมกับสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนช้าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดอนช้าง วัดกู่แก้วสามัคคี และประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมกันจัดกิจกรรม บุญประเพณี “กู่ฮ่มข่อย” นี้ขึ้นในวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๖ ณ โบราณสถาน “กู่แก้ว” หมู่ ๖ บ้านหัวสระ ตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นอโรคยาศาล หรือ โรงพยาบาลชุมชนโบราณในวัฒนธรรมเขมร ที่เป็นศูนย์รวมใจของชาวตำบลดอนช้าง

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีบุญกู่ฮ่มข่อย เพื่อสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญของโบราณสถาน “กู่แก้ว” ที่มีอายุมากกว่า ๘๐๐ ปี (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗) ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของตำบลดอนช้าง เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงามนี้ให้คงอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาด้านการแพทย์ไทยที่เชื่อมโยงกับอโรคยาศาล “กู่แก้ว”

 

 

โดยกิจกรรมเร่ิมขึ้นตั้งแต่เวลา ๐๗.๓๐ น. สำหรับให้ผู้เข้าร่วมงานได้ลงทะเบียนที่ประตูด้านโบราณสถาน บริเวณศาลาพระพุทธรูปนาคปรก ในบริเวณใกล้เคียงกันนั้นมีซุ้มให้ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย ซึ่งมีน้ำสมุนไพรหลากหลายรสชาติมาให้ลิ้มลอง รวมทั้งมีนิทรรศการประวัติความเป็นมาของอโรคยาศาล “กู่แก้ว” ซุ้มสินค้า OTOP ของบ้านหัวสระ ที่มีน้ำมันว่านเลียงผา ๑๐๘ สรรพคุณ สมุนไพรลูกประคบ และข้าวตอกแตกมาจำหน่าย ถัดไปมีสินค้าผ้าไหมจากบ้านดอนหญ้านางหลากหลายสีสันและลวดลาย โดยเฉพาะลายอัตลักษณ์ของหมู่บ้าน คือ ลายกู่แก้ว และลายเครือหญ้านาง เป็นต้น

พิธีเปิด เริ่มเวลา ๐๙.๐๐ น. โดยประธานในพิธีคือ นายประจวบ รักแพทย์ นายอำเภอเมืองขอนแก่น เป็นประธานในพิธี และ จ่าสิบเอกนพดล คนตรง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนช้าง เป็นผู้กล่าวรายงาน จากนั้นประธานลั่นฆ้องชัย ๓ ครั้ง เป็นสัญลักษณ์ของการเปิดงาน

 

 

พิธีบวงสรวง ประธานจุดธูปเทียน และถวายเครื่องสักการะกู่แก้วและพระพุทธรูปหลวงปู่ตาเขียว ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนทั้งตำบลดอนช้าง นำบวงสรวงโดยพ่อพราหมณ์ นายจำเนียน ไพรศรี นำกล่าวบวงสรวงสักการะพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา หรือ พระพุทธเจ้าแพทย์ ผู้เป็นพระประธานหลักประจำอโรคยาศาล พร้อมทั้งกล่าวสักการะบูชา ขอพร และขอขมาพระพุทธรูปหลวงปู่ตาเขียว ปิดท้ายด้วยการรำบวงสรวงโดยนางรำเยาวชนในตำบลดอนช้าง ๕ คน ตามด้วยรำบวงสรวงด้วยเพลงขอนแก่นวันนี้ และรำวงมหาดไทย นางรำอาสาจากชุมชนต่างๆ ในตำบลดอนช้าง จำนวนมากกว่า ๖๐ คน และนางรำจากบ้านดอนหญ้านาง รำอ้อมกอดเขมราฐและเต้นบาสโลบ เป็นอันเสร็จพิธีบวงสรวง

 

ปิดท้ายด้วย การแห่ต้นเงิน หรือ ต้นดอกเงิน ในเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. รอบอโรคยาศาล “กู่แก้ว” จำนวน ๓ รอบ โดยมีวงกลองยาวนำขบวน จากนั้นนำต้นเงินมาถวายแด่ พระครูวุฒิธรรมาภิราม, ดร. เจ้าอาวาสวัดกู่แก้วสามัคคี และเจ้าคณะตำบลดอนช้าง เพื่อสมทบปัจจัยสร้างยอดปฐมเจดีย์บนหลังคาพระอุโบสถ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และการอนุรักษ์สืบสานศิลปะดนตรีพื้นบ้าน จากนั้นพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และถวายอาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการ ผู้เข้าร่วมทุกท่านสามารถรับอาหารและเครื่องดื่มจากโรงทานต่างๆ จากผู้ใจบุญที่นำอาหารและเครื่องดื่มมาสมทบในงาน

 

พิธีบวงสรวงสักการะกู่ หรือที่เรียกว่า “กู่ฮ่มข่อย” ที่จัดขึ้นเป็นประจำนี้ นับเป็นงานพิธีสำคัญประจำปีของตำบลดอนช้าง และยังเป็นงานบุญที่เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาของผู้คนที่เข้าร่วม ทั้งได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้ร่วมบุญสร้างพระอุโบสถ ได้ความสนุกสาน ได้แต่งกายย้อนยุคตามแบบวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน และได้มีส่วนร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่งดงามของชาวตำบลดอนช้างให้สืบเนื่องไปถึงลูกหลาน (ในปีนี้มีเด็กๆ และเยาวชนมาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก) และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชนให้ฟื้นกลับมาอีกครั้งหลังจากห่างหายไปในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-๑๙

 

กู่แก้ว เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ มีอายุมากกว่า ๘๐๐ ปี สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ หรือ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็น ๑ ใน อโรคยาศาล หรือ โรงพยาบาลชุมชนโบราณ จำนวน ๑๐๒​ แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โปรดฯ ให้สร้างขึ้น ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ (ตามที่ระบุในจารึกปราสาทตาพรหม ประเทศกัมพูชา) กระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ ทั้งในประเทศกัมพูชาและภาคอีสานของไทย เฉพาะที่พบในภาคอีสานมีจำนวน ๓๑ แห่ง และในจำนวนนี้พบในจังหวัดขอนแก่น ๒ แห่ง ได้แก่ กู่แก้ว (อำเภอเมืองขอนแก่น) และ กู่ประภาชัย (อำเภอน้ำพอง)

 

 

อ่านเพิ่มเติม

กู่แก้ว
“อโรคยาศาล” โรงพยาบาลในชุมชนเขมรโบราณ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published.

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์
  • Today's visitors: 29
  • Today's page views: : 33
  • Total visitors : 12,531
  • Total page views: 17,733