ท่องเที่ยวดอนช้าง

เรียนรู้และดื่มด่ำกับธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น

ฮีตสิบสองคลองสิบสี่

ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ไทย พ.ศ. ๒๕๖๖

วันสงกรานต์ไม่ใช่เพียงแค่การเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน แต่เป็นเทศกาลที่มีความสำคัญในวิถีชีวิตของคนไทยทุกภูมิภาค โดยเฉพาะความเกี่ยวโยงในทางพระพุทธศาสนาและประเพณีท้องถิ่นของไทย ในภาคอีสานเรียกว่า ฮีตสิบสอง ซึ่งตรงกับ บุญฮดสรง หรือ บุญเดือนห้า

ปกติกำหนดวันสงกรานต์ไว้ ๓ วัน วันแรก เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ คือวันที่พระอาทิตย์ เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ วันที่ ๒ เป็น วันเนา และ วันที่ ๓ เป็น วันเถลิงศก (วันขึ้นปีใหม่เปลี่ยนจุลศักราช)

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา วันมหาสงกรานต์ จะตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน แต่กำลังจะเปลี่ยนเป็นวันที่ ๑๔ เมษายน เพราะการคำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร์นั้น วันมหาสงกรานต์จะเลื่อนไป ๑ วันทุก ๆ ๖๐ ปีเศษ ปฏิทินหลวงในปัจจุบันกำหนดให้วันที่ ๑๓ – ๑๕ เมษายน เป็นวันเทศกาลสงกรานต์ แต่วันเถลิงศกยังอาศัยการคำนวณอยู่ บางปีจึงเป็นวันที่ ๑๕ เมษายน และบางปีเป็นวันที่ ๑๖ เมษายน สำหรับวันมหาสงกรานต์ในปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๖ (ที่มา: หอสมุดแห่งชาติ. ตำนานสงกรานต์ สืบสานวัฒนธรรมไทยสี่ภาค, ๒๕๖๖) 

ประเพณีสงกรานต์ภาคอีสาน เรียกว่า “บุญสงกรานต์” หรือ “บุญเดือนห้า” หรือ “บุญฮดสรง” ซึ่งในแต่ละวันมี

วันที่ ๑๓ เมษายน “วันสังขารล่วง” ช่วงเวลาบ่ายสามโมง ถือเป็น “มื้อเอาพระลง” คือ การนำเอาพระพุทธรูปทั้งหมดในวัดมาทำความสะอาด แล้วนำมาตั้งรวมกันไว้ที่กลางศาลาโรงเรือนหรือ หอแจก เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำพระ รวมถึงการสรงน้ำพระภิกษุสามเณร และรดน้ำดำหัวคนเฒ่าคนแก่ เพื่อแสดงความเคารพและขอพร

วันที่ ๑๔ เมษายน “วันเนา” มีการทำบุญให้ทาน ถวายภัตตาหารพระ มีการนำธงไปแห่และแขวนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย เป็นวันหยุดเล่นน้ำสงกรานต์

วันที่ ๑๕ เมษายน “วันสังขารขึ้น” มีการขนทรายเข้าวัดก่อกองทรายเป็นรูปเจดีย์ เพื่อต่ออายุชีวิต รวมถึงนึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ การก่อเจดีย์นอกจากได้บุญแล้วยังทำให้พื้นที่ของวัดสูงขึ้น

 

ตำนานเกี่ยวกับสงกรานต์

ท้าวกบิลพรหมซึ่งเป็นเทพชั้นพรหมแพ้พนัน ธรรมบาลกุมาร เด็กอายุ ๗ ขวบ ที่เรียนจบพระคัมภีร์ไตรเพท ด้วยปัญหา ๓ ข้อ คือ ในเวลาเช้า เวลาเที่ยง และเวลาค่ำ มนุษย์นั้นมีราศีอยู่ที่ใดบ้าง จึงต้องตัดเศียรตัวเองบูชาธรรมบาลกุมารตามสัญญาที่ตกลงกัน แต่เศียรของท้าวกบิลพรหมนี้ร้อนแรง หากวางบนแผ่นดินจะเกิดไฟไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นบนอากาศฝนจะแล้ง หากทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง จึงมอบหน้าที่ให้ธิดาทั้ง ๗ นาง ผลัดเปลี่ยนกันอัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเช่นนี้ประจำทุกปี ธิดาทั้ง ๗ นางนั้น มีชื่อต่าง ๆ กัน แต่รวมเรียกว่า นางสงกรานต์ ทั้งสิ้น คือ

๑. นางสงกรานต์ทุงษะเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วปัทมราช (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคืออุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ

๒. นางสงกรานต์โคราคะเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกปีบ ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วมุกดาเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)

๓. นางสงกรานต์รากษสเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทรงพาหุรัด ทัดดอกบัวหลวง ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วโมรา ภักษาหารคือโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (สุกร)

๔. นางสงกรานต์มณฑาเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทรงพาหุรัด ทัดดอกจำปา ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วไพฑูรย์ ภักษาหารคือนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)

๕. นางสงกรานต์กิริณีเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วมรกต ภักษาหารคือถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)

๖. นางสงกรานต์กิมิทาเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกลนี ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วบุษราคัม ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (กระบือ)

๗. นางสงกรานต์มโหธรเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วนิลรัตน์ ภักษาหารคือเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)

 

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ออกประกาศสงกรานต์ ปี 2566 ซึ่งยึดตามฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง นางสงกรานต์ 2566 ทรงนามว่า “กิมิทาเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จนั่งมาเหนือหลังมหิงสา (ควาย) เป็นพาหนะ ทำนายว่า น้ำฝน ข้าวพืชพันธุ์ธัญญาหาร สมบูรณ์ดี

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

หอสมุดแห่งชาติ. ตำนานสงกรานต์ สืบสานวัฒนธรรมไทยสี่ภาค. สืบค้นเมื่อ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๖, จาก: https://kku.world/7yqro

 

Related posts:

บุญเบิกบ้าน (บุญซำฮะ) ประจำปี ๒๕๖๖ บ้านหัวสระ ตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น

  บุญเดือน ๗ ตามฮีต ๑๒ ของชาวอีสาน เรียกว่...

บุญกุ้มข้าวใหญ่และบุญวันมาฆบูชา ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น

บุญกุ้มข้าวใหญ่ หรือ บุญคูณลาน เป็นบุญประเพณีที่สั...

สืบสานประเพณีโบราณ บุญกุ้มข้าวใหญ่ ประจำปี ๒๕๖๗ วัดกู่แก้วสามัคคี ตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น จังห...

การทำบุญรับขวัญข้าวภายหลังการเก็บเกี่ยว หรือที่เรี...

งานบุญวันมาฆบูชาและบุญข้าวจี่ ประจำปี ๒๕๖๕ ที่วัดกู่แก้วสามัคคี ตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น

วันเพ็ญเดือนสามของทุกๆ ปี ถือเป็นวันสำคัญของพุทธศา...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์
  • Today's visitors: 29
  • Today's page views: : 33
  • Total visitors : 12,531
  • Total page views: 17,733