ท่องเที่ยวดอนช้าง

เรียนรู้และดื่มด่ำกับธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น

หมู่ ๕ บ้านหัวบึง

บ้านหัวบึง ตั้งอยู่ที่ หมู่ ๕ ตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น 

ประวัติหมู่บ้าน

เดิมทีบ้านหัวบึง เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาได้โยกย้ายมาตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณหมู่ 6 บ้านหัวสระ ตำบลดอนช้าง จังหวัดขอนแก่น และได้โยกย้ายหมู่บ้านอีกครั้งเนื่องด้วยบริเวณเดิมง่ายต่อการเกิดอุทกภัย โดยทำการโยกย้ายมาบริเวณที่ใกล้เคียงกลาย แยกออกเป็นหลายหมู่บ้าน ซึ่งบริเวณปัจจุบันเป็นที่ตั้งหมู่บ้านหัวบึง ในช่วงของการตั้งถิ่นฐานใหม่ของแต่ละหมู่บ้าน ตำบลดอนช้างมีบ้านเรือนกว่า ๗๐๐-๘๐๐ หลังคาเรือน มีการขยายพื้นที่ไปยังแถบจังหวัดอุดรธานี เป็นการขยายพื้นที่เพื่อหนีภัยแล้งและโยกย้ายเพื่อหาพื้นที่ฝนชุก เหตุนี้ทำให้บางพื้นที่ต้องโยกย้ายและกลุ่มหมู่บ้านเดิมที่โยกย้ายมาจากโนนสูงจึงเหลือเพียงหมู่บ้านหัวบึงและหมู่บ้านหัวสระ เหลือบ้านเรือยเพียง ๑๒๙ หลังคาเรือนและเป็นเพียงสองหมู่บ้านในตำบลดอนช้างที่ยังพูดภาษาอีสานสำเนียงถิ่นโคราชอยู่

อาชีพ

อาชีพหลักคือการเกษตร มีโครงการเลี้ยงสัตว์อย่างการเลี้ยงวัวและโครงการปลูกหญ้ารูซี่ โดยโครงการหญ้ารูซี่เป็นโครงการที่ทำมากว่า ๒๐ ปีแล้ว ปลูกเพื่อไว้เลี้ยงสัตว์และขายให้กับผู้ที่มารับซื้อ โดยการปลูกหญ้ารูซี่ ชาวบ้านทุกครัวเรือนจะทำการปลูกด้วยตนเองทุกขั้นตอน เมื่อปลูกได้จนถึงเวลาขายแล้วจะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อหญ้ารูซี่เพื่อไปเลี้ยงสัตว์ โครงนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนมาตลอด ๓-๔ ปี แม้จะมีติดขัดในช่วงปีที่ผ่านมาเนื่องด้วยสถานการณ์ COVID-19 ไปบ้าง แต่ก็ยังไม่ถึงกับขาดทุน การเกษตรของคนในชุมชนอื่น ๆ มีอยู่ประปราย เช่น อ้อย มันสำปะหลัง แต่เป็นส่วนน้อย เนื่องจากหมู่บ้านให้ความสำคัญกับการปลูกหญ้ารูซี่ที่สุด

ภูมิปัญญา

เดิมทีหมู่บ้านหัวสระและหมู่บ้านหัวบึงทำหัตถกรรมอย่างการปั้นหม้อ เป็นภูมิปัญญาที่ติดตัวชาวบ้านมาตั้งแต่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา มีการปั้นหม้อทั้งสองหมู่บ้านในทุกครัวเรือน นับเป็นสินค้าหัตถกรรมที่สามารถสร้างรายได้แก่คนในชุมชนได้ดีมาก แต่เมื่อเวลาต่อมา การปั้นหม้อมีจำนวนการผลิตในแต่ละครัวเรือนลดลง เนื่องจากวัตถุดิบที่ต้องการเป็นทรัพยากรที่กำลังจะหมดไปและมีน้อยลงขึ้นทุกวัน นั่นก็คือดินที่ใช้ปั้นหม้อ เป็นดินจากหนองสาธารณะอันมีพื้นที่ประมาณ ๗-๘ ไร่ อยู่ใกล้กับกู่แก้วของตำบลดอนช้าง แต่เมื่อทำการขุดในปริมาณมาก ๆ เป็นเวลานานทำให้มีทรัพยากรไม่เพียงพอต่อการผลิต ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งเจือปนมีเพิ่มขึ้นในดิน ทำให้ไม่เหมาะสมต่อการนำมาปั้นหม้อ แม้จะมีไร่นาพื้นที่ใกล้เคียงที่มีเจ้าของได้ทำการขายดินให้กับชาวบ้าน ทว่าก็เป็นอันต้องหยุดขายไปเพราะท้ายที่สุดดินก็ไม่เพียงพอต่อการปั้น การปั้นหม้อที่เคยทำทุกครัวเรือนจึงถูกหยุดพักมากว่า ๑๕ ปี ทว่าในปัจจุบันก็ยังมีบางกลุ่มหรือบางครัวเรือนที่ยังคงอนุรักษ์การปั้นหม้อนี้ไว้อยู่ ในหมู่บ้านหัวบึงเอง เหลือเพียงแค่ ๒-๓ ครัวเรือนที่ยังคงทำการปั้นหม้อในปัจจุบัน

หม้อปั้นดินเผาเป็นหนึ่งในสินค้าหัตถกรรมของหมู่บ้านที่ค้าขายได้ดีเสมอ มีพ่อค้ามารับหม้อปั้นไปขายต่อและมีการสั่งจองเอาไว้เผื่อมารับไปขายด้วย ไม่มีการขาดระยะ หากทรัพยากรพอก็สามารถทำขายได้ทุกช่วง หม้อที่ขายดีคือ “หม่ออู๋” เป็นภาษาอีสานที่แปลว่า หม้อปั้นดินแบบสมัยก่อน เมื่อเผาแล้วตัวหม้อจะออกเป็นสีส้มหรือคล้ายกับสีของไฟ

นายสุภาพ กุมพล อายุ ๗๕ ปี ผู้ที่ยังคงสืบสานการปั้นหม้อดินของหมู่บ้าน ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับหม้อปั้นดินนี้มีลวดลายบนพื้นผิว ลวดลายที่อยู่บนหม้อนั้นมาจาก “หินก่าม” คือไม้ที่การสลักลวดลาย เมื่อจะสร้างลายบนหม้อก็ใช้ไม้นี้ตีลงบนหม้อ ในตอนที่ดินยังไม่แห้ง ซึ่งลวดลายเหล่านี้เป็นลายที่ชาวบ้านคิดเอง นอกจากนี้ก็มีอุปกรณ์ที่มีลักษณะเหมือนลูกประคบ แต่เป็นเครื่องมือดินเผา เอาไว้ใช้ดันท้องหม้อในตอนที่ยังไม่แห้งเพื่อสร้างรูปทรงหม้อขึ้นอีกทั้งยังเป็นการรักษารูปทรงของหม้อด้วยเพราะระหว่างนั้นก็ใช้ไม้แบนตีด้านนอก รวมไปถึงใช้ไม้สลักลายด้วย

นอกจากยังมีโอกาสได้สัมภาษณ์ แม่กุล กุมพล อายุ ๗๐ ปี มีอาชีพทำนา และปั้นหม้อ โดยเรียนรู้การปั้นมาตั้งแต่อายุยังน้อยกับพ่อแม่ของตน ใช้มือในการปั้นทั้งหมด โดยการนำดินเหนียวมาตำในครก นำหม้อทรงกลมมาตั้ง ตีดินรอบหม้อด้วยอุปกรณ์ไม้ เมื่อเสร็จแล้วนำมาผ้าคลุมและตากให้แห้ง ตอนกลางคืนก็ผสมดินไว้เพื่อใช้ในวันถัดไป

ในอดีตชาวบ้านในบ้านหัวบึงนิยมทำหม้อเป็นอย่างมาก แต่ต่อมาก็ไปทำเกษตรมากกว่า เช่น ไร่มัน ไร่อ้อย ทำให้ในปัจจุบันเหลือเพียงแม่อุ่นที่ยังคงทำอยู่ โดยปั้นหม้อขายกันเองให้คนในหมู่บ้าน ใช้เป็นภาชนะทั่วไป เช่น หม้อใส่น้ำ กระถางดอกไม้ หม้อนึ่งข้าว หรือใส่กระดูกผู้เสียชีวิตเพื่อนำไปฝัง เป็นต้น โดยในการปั้นแต่ละครั้งทำได้มากถึง ๒๐-๓๐ ใบ ในบางครั้งก็มีคณะนักศึกษามาเรียนรู้การปั้นหม้ออยู่เป็นเดือน ๆ หรือไปสอนปั้นเองในมหาวิทยาลัยที่รับเชิญ

การรักษาโรคด้วยสมุนไพร

คุณพ่อสุภาพ ยาต้มกินของพ่อ แก้โรคนิ่ว โรคไต ตัวยาเป็นสิ่งที่หามาเองตามธรรมชาติ มี ไม้มะเฟือง หัวสับปะรด (หัวบักนัด) และสารส้ม วิธีทำคือต้มน้ำกับตัวยาทั้งสองให้ร้อน แล้วจึงนำมารินใส่ถ้วยหลังจากนั้นใช้สารส้มคน ๆ ยา มันมีฤทธิ์กัดและขับให้นิ่วที่เป็นก้อนเล็ก ออกมาทางการปัสสาวะ นิ่วของคุณพ่อที่เคยถูกขับออกมาหลังจากกินยาตัวนี้ไป มีขนาดประมาณหัวไม้ขีด ยาสูตรนี้เป็นสูตรที่สืบทอดกันมาในครอบครัว เพราะเป็นโรคทางกรรมพันธ์ที่สืบทอดกันมา ซึ่งยานี้คุณพ่อก็กินเกือบทุกวัน อาจจะมีบางวันที่ลืมกินบ้าง นอกจากโรคนิ่วแล้วพ่อก็ไม่มีโรคอย่างอื่นเลย

ส่วนที่เป็นก้อนใหญ่หมอบอกให้พ่อไปผ่าตั้งแต่ตอนอายุหกสิบ แต่พ่อไม่ได้ไป กินยามาเรื่อย ๆ จนตอนนี้เจ็ดสิบกว่า ก้อนนิ่วนั้นก็ยังอยู่และมีอาการเจ็บบ้าง กินยาแก้ปวดปกติก็หาย ไม่ได้กระทบกับชีวิตอะไร สาเหตุที่พ่อไม่อยากผ่าเพราะกลัวทำงานไม่ได้อีกทั้งอายุก็มากแล้วด้วย

ประเพณีและวัฒนธรรม

ในส่วนของประเพณีและวัฒนธรรมของหมู่บ้านเองนั้นไม่ได้มีกิจกรรมหรือประเพณีเฉพาะหมู่บ้าน แต่มีประเพณีและวัฒนธรรมประจำตำบลดอนช้างที่ทำร่วมกันอยู่ คือประเพณีบุญกู่ฮ่มข่อย จัดขึ้นบริเวณวัดกู่แก้ว เป็นประเพณีประจำตำบลที่ทำในทุก ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ของทุกปี ระยะเวลาที่จัด จะจัดเพียง ๑ วันของทุก ๆ ปี เป็นประเพณีที่ขาดไม่ได้ เป็นประเพณีที่ทุกคนในตำบลมารวมตัวกันและทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน อย่างการทำบุญสรงน้ำพระ มีการรำฟ้อนถวายอย่างสวยงาม มีการทำโรงทาน นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อสานสัมพันธ์กับคนในตำบลด้วย คือการประกวดร้องเพลงสรภัญญะแข่งกันระหว่างหมู่บ้าน เมื่ออยู่ในช่วงประเพณีบุญกู่ฮ่มข่อย ทุกหมู่บ้านจะนำต้นดอกเงินมาถวาย เพื่อทำบุญร่วมกัน ยังมีโรงทาน มีหารแห่ต้นดอกเงินและประกวดอีกด้วย

ความเชื่อ

ชาวตำบลดอนช้างนับถือและเคารพในโบราณสถานกู่แก้ว เชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ชาวบ้านจึงมักวนเวียนมาบนบานศาลกล่าวอยู่เสมอ เมื่อประสบความสำเร็จตามที่ขอ ก็ต้องมารำแก้บน แต่ต้องทำเฉพาะวันพุธเท่านั้น อาจจะเป็นพุธไหนก็ได้ 1 วัน เพราะเชื่อว่าวันพุธมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยถวายปัจจัยตามสิ่งที่ขอบน เช่น ผลไม้ ตามกำลังศรัทธาของตน ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของมีค่าราคาแพง ในบางครั้งก็ถวายพร้อมกับจุดประทัดด้วยหากประสบความสำเร็จครั้งใหญ่


ที่มา:

สัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๕ นายประดิษฐ์ แต้มกลาง อายุ ๕๗ ปี อาชีพ รับราชการ ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และเกษตรกร เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

หมู่ ๑ บ้านดอนช้าง หมู่ ๒ บ้านป่าเหลื่อม หมู่ ๓ บ้านป่าสังข์ หมู่ ๔ บ้านหนองฮี
หมู่ ๕ บ้านหัวบึง หมู่ ๖ บ้านหัวสระ หมู่ ๗ บ้านดอนหญ้านาง หมู่ ๘ บ้านนิคม

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์
  • Today's visitors: 29
  • Today's page views: : 33
  • Total visitors : 12,531
  • Total page views: 17,733